วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ความในใจ ตอนที่ 1 : การกู้หนี้ยืมสิน

"อิณา ทานัง ทุกขัง โลเก" การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก แต่ทำไมคนเราถึงชอบเป็นหนี้กันนัก นั่นเป็นเพราะการไม่รู้จักพอ ถ้าเรายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ชีวิตความเป็นอยู่ถึงจะไม่ร่ำรวย ก็สามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุข ไม่เห็นจะต้องดิ้นรนให้เหนื่อยยากอยู่ทำไม การที่คนส่วนใหญ่ยอมเป็นหนี้เป็นสินย่อมมีสาเหตุมากจากหลายประการด้วยกัน เช่น 1. การใช้ชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักประหยัด มัธยัสถ์ เห็นคนอื่นมีมากกว่าตนไม่ได้ เห็นช้างขี้แล้วขี้ตามช้าง รายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง ถ้าเป็นแบบนี้มีเท่าไรก็ไม่พอ ทางแก้ก็คือ ต้องใช้ชีวิตที่เรียบง่าย รู้จักมัธยัสถ์อดออม ไม่ฟุ่มเฟือยไม่ตามโลก พยายามทำให้มีรายรับมากกว่ารายจ่าย ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป ถ้าจำเป็นต้องกู้เงินควรคำนึงถึงความจำเป็นให้มากที่สุด ไม่ใช่ว่า เห็นว่าสามารถหยิบยืมผู้อื่นได้ง่าย แล้วนึกจะออกปากยืมก็ยืมทันที 2. การเล่นการพนัน หวยเบอร์ทั้งที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย การพนันทุกประเภทไม่ได้ทำให้ผู้เล่นร่ำรวยเลย คนที่รวยก็คือเจ้ามือ การพนันจึงเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง ทางแก้ก็คือ ต้องตัดใจไม่เล่นโดยเด็ดขาด ต้องใจแข็งเข้าไว้ เมื่อเราไม่เล่นเสียอย่าง รายจ่ายเราก็ไม่รั่วไหล 3. การดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด การดื่มสุราเมรัย ทำให้เกิดโทษมันจึงเป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง ทางแก้ก็คือ ต้องถือศีลข้อ 5 4. การสูบบุหรี่ ทำให้เสียสุขภาพ เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ทางแก้ก็คือ ต้องไม่สูบบุหรี่ 5. การเที่ยวเตร่ หรือเที่ยวกลางคืน ก็เป็นอบายมุขอย่างหนึ่ง ย่อมมีโทษ ทางแก้ก็คือ เที่ยวให้น้อยที่สุด หรือไม่เที่ยวเลยจะเป็นการดีที่สุด 6. การเที่ยวผู้หญิง เสียทั้งเงินและอาจได้โรคติดมาเป็นของแถม ทางแก้ก็คือ ให้พอใจในคู่ครองของตนเอง ถ้าเป็นโสดอยู่ควรเที่ยวอย่างระมัดระวัง 7. การคบเพื่อนฝูง อย่าลืมว่าเพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก ตามหลักศาสนาพุทธ มีมิตรแท้และมิตรเทียม ทางแก้ก็คือ ควรคบแต่มิตรแท้เท่านั้น ฉันมักจะรำคาญใจอยู่เสมอ เมื่อมีคนมาขอยืมเงินหรือกู้เงิน เพราะฉันถือคติว่า มีเงินมีทอง อย่าให้ผู้ใดกู้ มีความรู้อย่าให้อยู่แต่ในหนังสือ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะฉันเข็ดหลาบกับการที่ถูกลูกหนี้เบี้ยวฉันเสียหลายรายแล้ว พูดได้ว่าไม่ได้กำไรเลยกับการที่ให้ยืม มีแต่ตัวเองจะเข้าเนื้อ ความจริงฉันก็ไม่ได้ต้องการได้ดอกเบี้ย แต่ที่ต้องเอา เพราะต้องการชดเชยกับการขาดทุน และไม่มีหลักประกันหรือของค้ำเลย ส่วนคนที่เป็นลูกหนี้ก็ไม่รู้สึกร้อนหนาวว่าเจ้าของเงินเขาต้องการเงินคืน ช่างน่าไม่อายเสียจริง ๆ ถ้าฉันไม่ให้ ก็เป็นอย่างพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ยาจโก อปฺปิโย โหติ.” ผู้ถูกขอเมื่อไม่ให้สิ่งที่เขาขอ ย่อมไม่เป็นที่รักของผู้ขอ เพราะว่าบางครั้งก็ไม่น่าจะให้ยืมเสียด้วย รู้จักกันแค่ผิวเผิน ก็ออกปากยืมเงินแล้ว ต่อไปฉันคงต้องไม่ใจอ่อนกับพวกนี้แล้ว และคงต้องมีหลักประกัน ใครจะว่าใจดำก็ต้องยอม ฉันเองก็ไม่ต้องการหยิบยืมเงินทองของใครอยู่แล้ว ถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเราไปขอยืมเงินใคร ถ้าเขาไม่ให้ก็ย่อมเป็นสิทธิของเขา ไม่ใช่ว่า เมื่อเอ่ยปากขอแล้ว กูต้องได้ทุกครั้ง มันไม่ใช่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก